เทคนิคการทำไลน์ดนตรีตามย่านเสียง
เคยรู้สึกไหมว่า ตอนทำเพลงยิ่งใส่ไลน์ดนตรีเยอะๆ แทนที่เสียงจะแน่นขึ้น แต่เพลงกลับฟังแล้ว ตันๆแน่นๆ และดูไม่เต็ม พอยิ่งใส่เพื่มยิ่งอึดอัดกว่าเดิม พอตอนจบจะใช้ EQ มาช่วย ก็เริ่มงงไปหมดจะเอาอะไรมาหลบอะไรกันดี
วันนี้จึงขอนำเสนอ “เทคนิคการทำไลน์ดนตรีตามย่านเสียง”
ถ้าศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ย่านความถี่ของเสียงของแต่ละเครื่องดนตรี เราจะเห็นได้ว่า แต่ละชิ้นเครื่องนั้น มีย่านความถี่ของมันอย่างชัดเจนมาก เเต่เรากลับใช้ข้อมูลนั้นในตอนมิกส์เสียงเท่านั้น แต่ถ้าเราใช้ข้อมูลนี้ในขั้นตอนทำเพลงเลยละจะดีแค่ไหน
ข้อดีในการทำดนตรีแบบแบ่งตามย่านเสียง
1.เครื่องดนตรีในเพลงจะน้อยลง แต่เพลงจะเต็มขึ้น
2.เสียงดนตรีแต่ละชิ้นไม่ตีกัน และแทบให้เราไม่ต้องใช้ EQ ในการลดย่านที่ตีกัน ของเต่ละชิ้นเครื่องเลย
3.ช่วยให้เราสามารถเลือกเสียงดนตรีให้เข้ากันได้ดีขึ้น ยิ่งถ้าฝึกทำบ่อย หูเราจะสามารถฟังเสียงและแบ่งย่านเสียงของเครื่องดนตรีได้ชัดเจนชึ้น
เอาละเมื่อรู้ข้อดีแล้ว ก็มาลองทำกันเลย
เทคนิคของมันไม่มีอะไรมาก แค่เวลาทำเพลง เราก็แค่ดูว่าเสียงไหนอยู่ย่านไหนบ้าง ถ้าย่านเสียงไหนมีเครื่องดนตรีรองรับอยู่แล้ว เสียงต่อไปที่เลือกมาใช้ ก็เเค่อย่าให้มีย่านเสียงทับกันเท่านั้นครับ เราค่อยๆทำไปเรื่อยๆ เติมจนเต็มจนครบทุกย่าน โดยย่านความถี่เสียงเราแบ่งเป็นใหญ่ๆให้เห็นภาพรวมกันอย่างกว้างๆดังนี้ครับ
Sub—Low—Mid Low—Mid—Hi
คำถามคือจะรู้ได้อย่างไรละ ว่าอะไรอยู่ย่านไหน?
เราสามารถดูตาม EQ Chart ของเครื่องดนตรี ต่างๆที่หากันได้ทั่วไป
หรือเราจะใช้อุปกรณ์เช็คย่านเสียง ที่ให้มากับ DAW ต่างๆก็ได้ครับ ตามภาพผมจะใช้เจ้า Audio Effect “Spectrum” ของ Ableton มาเช็คย่านเสียงครับ โดยผมจะโยนมันไหวที่ Master Track เลย เพื่อเช็คองค์ประกอบของย่านเสียงโดยรวมของทั้งเพลง
โดยเจ้า Spectrum นี้ จะแสดงผลเป็นกราฟเสียงอย่างชัดเจน โดยเรายังสามารถนำเม้าส์ไปว่างบนจุดไหนของกราฟก็ได้ มันก็จะขึ้นเป็นข้อมูลแสดงผลทันทีว่า ตรงจุดนั้น คือย่านความถี่อะไร และที่สำคัญคือโน้ตไหนและช่วง Octave ไหนอีกด้วย โดยเราก็ใช้เจ้าตัวนี้ นั้นแหละครับ เป็นไกด์นำทาง ว่าเรายังขาดเสียงเครื่องดนตรีอะไร
ในกรณีทำเสียง Synth เราต้องแยกประเภทด้วยนะว่าเจ้าตัวที่เรากำลังทำนั้น มันทำหน้าที่แทนอะไร เช่น เป็นBass เป็น Chord เป็น Lead เป็นองค์ประกอบไหนในเพลง เพราะฉะนั้นเราควรต้องศึกษาเครื่องดนตรีทั่วไปด้วย เพื่อจะได้นำเสียง ซินธิไซเซอร์ ไปแทนได้ตรงจุดครับ
เทคนิคการทำ
ใส่เครื่องดนตรีพื้นฐานของภาค Rhythm ให้ครบก่อน Drum Set, Bass, Chord, Pad
เสียง Sub ต้องเลือกว่าใครจะเป็น Sub ของเพลงตั้งแต่ก่อนขึ้นเพลง จะเป็น Kick Drum หรือ Bass เพราะมีผลต่อความหนาของย่านตำ่ของทั้งเพลง
ในกรณีเสียงที่เลือกชอบแล้ว แต่ย่านเสียงตีกันอยู่ ให้ใช้การเพิ่ม-ลด Octave หลบเอา
ในกรณีที่ต้องผสมเสียง หลายเสียง เพิ่มให้เกิดคาแลคเตอร์เสียงที่ต้องการ เราก็ใช้หลักการย่านเสียงได้เลย เช่นเสียงไหนเป็น Low เป็น Mid เป็น Hi
อันนี้ก็เป็นเทคนิคคร่าวๆ ที่นำมาฝากกันครับ ยังไงลองฝึกทำกันดู เพราะจริงๆดนตรีก็เหมือนศิลปะ การทำเพลงก็เหมือนการวาดภาพผสมสี ค่อยๆเติมจนมันเต็ม ภาพจะสวยไม่สวยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละศิลปินแล้วครับ แต่มั่นใจได้เลยว่ามันจะคมชัดและมีทิศทางในการทำมากขึ้นแน่นอนครับ
บทความโดย
อาจารย์นับ อินเอียบีท