ประวัติศาสตร์เครื่อง Sampler Machine และวิธีการเลือกซื้อ
ในยุคที่การเล่นดีเจ ทั้งในเฟสติวัล หรือแม้แต่ตามคลับได้ถูกแบรนด์ Pioneer ยึดครองอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยระบบดีเจที่มีมาตรฐานเทียบเท่า Turntable ยี่ห้อ "Technic" เมื่อครั้งในอดีต จนอุปกรณ์ CDJ กลายเป็นมาตรฐานของการเล่นดีเจ ณ ปัจจุบัน จนผู้ใช้งานอย่างเรามองไม่เห็น ถ้าทีว่าจะมีอุปกรณ์ดีเจอะไรใหม่ๆมาทำให้เราตื่นเต้นได้เลย เพราะไม่สามารถนำไปใช้งานได้จริงด้วยเหตุผลหลายประการ
แต่วันนี้แบรนด์ Pioneer DJ กลับสร้างเซอร์ไพรส์ใหม่ให้กับวงการดนตรี โดยการออกอุปกรณ์เพื่อทำเพลงตัวแรกของตัวเองออกมา นั้นก็คือเจ้าตัว Toraiz sp-16 ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจมากทีเดียวกับสายงานดีเจ รวมทั้งคนที่ยังไม่รู้จักอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์มิวสิค แต่ในหมู่ผู้เล่นเครื่องมือเหล่านี้อยู่แล้วกลับรู้สึกว่า นี้คือการ วนลูปในวงการเพลงหรือปล่าว? เพราะอุปกรณ์ชิ้นนี้ที่ Pioneer DJ ออกมา มันคือเจ้าตัว Sampler Machine "แซมเพลอร์ แมชชีน" นี่เอง
ย้อนกลับไปในยุคคลาสสิคที่ดีเจทุกคนยังคงใช้งาน อุปกรณ์เทิร์นเทเบิล เพื่อเล่นดีเจจากแผ่นเสียง ในวันที่ดีเจถึงจุดสูงสุดของการเล่น ก็เริ่มก้าวเข้าสู่โลกของการผลิตผลงานเพลงด้วยตนเอง(DJ/Producer) ณ ขณะนั้นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ดีเจ ซึ้งถือว่าเป็นนักฟังเพลงมืออาชีพทุกคน เลือกที่จะใช้กันก็คือเจ้าอุปกรณ์ที่เรียกว่า (Sampler Machine) แซมเพลอร์แมชชีน อุปกรณ์ที่มาพร้อม ระบบ Sequencer และระบบ Sampling Sound หรือจะอธิบายง่ายๆคือ อุปกรณ์ที่ไม่มีเสียงในตัวเอง แต่สามารถบันทึกเสียงจากแหล่งเสียงข้างนอก เช่นเสียงเพลงจากแผ่นเสียงได้ และมีระบบที่สามารถตัดต่อเสียงต่างๆที่บันทึกมา นำมาสร้างเป็นเพลงใหม่ได้ โดยมีอุปกรณ์ ซีเควนเซอร์ควบคุม ความเร็ว-ช้า ของเพลง และควบคุมการบันทึก และเล่นตัวโน้ตที่เราเล่นเข้าไปได้นั้นเอง
งั้นเรามาย้อนอดีต เจ้าอุปกรณ์ ประเภท Sampler Machine กันซักหน่อยว่ามันมีความเป็นมาอย่างไรกันบ้าง?
ย้อนกลับไปก่อนที่จะมีระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในอุปกรณ์ แซมเพลอร์ นักดนตรีใช้เครื่องเล่น Tape Replay Keyboard เล่นกับเสียงที่เล่นจากเครื่องอัดเทป หลังจากนั้นมีการพัฒนาจนเป็นระบบที่ดีขึ้น โดยเจ้าตัว Mellotron ถูกนำมาแทนที่ แต่ด้วยราคาที่แสนแพงรวมทั้งขนาดและน้ำหนักที่มากเกินไป จึงทำให้ไม่เป็นที่นิยม และถูกใช้ในช่วงปี 1960s -1970s โดยทุกครั้งที่เล่นจะต้องใส่เทปที่เล่นเสียงเข้าไปก่อนจึงจะสามารถเล่นได้ และมีช่วงเสียงแค่ 3 Octave เท่านั้น
ต่อมาในปี 1967 นาย บรูส แฮค และเพื่อนบ้านของเขา มิสเตอร์ โรเจอร์ ได้สร้างอุปกรณ์ที่ ใส่ระบบดิจิตอล แซม เพลอร์ และซินธิไซเซอร์ รวมทั้งตัวบันทึกเสียง โดยสามารถเล่นเสียง และสร้างลูปเสียงได้ โดยมีระบบ Light Sensors และระบบสัมผัสกับผิวหนังขึ้นมา หรือที่เราเรียกกันว่า "Touch Screen" นั้นเอง
นอกจากสองท่านคนนี้แล้ว ยังมีบริษัท EMS Musys system คิดค้นเจ้าตัว PDP-8 นำทีมพัฒนาโดย Peter Grogono คิดค้นระบบซอฟท์แวร์, David Cockerell คิดค้นและออกแบบอุปกรณ์เชื่อมต่อและฮาร์ดแวร์ โดยมี Peter Zinovieff คิดค้นระบบโปรแกรมและการเชื่อมต่อสัญญาณภายในเครื่อง ที่สตูดิโอของพวกเขาในลอนดอน ช่วงปี1969
โดยตัวเครื่องนั้น ควบคุมระบบด้วยคอมพิวเตอร์ 2เครื่อง วิ่งด้วยความเร็ว 12,000 Byte และมีตัวแบคอัพข้อมูลด้วย ฮาร์ดไดรฟความจุ 32k ด้วยระบบ DecTape จึงทำให้ตัว PDP-8 เป็นอุปกรณ์ ดิจิตอล สตูดิโอตัวแรกของโลก
แต่แล้วความฝันที่จะมีอุปกรณ์ แซมเพลอร์ ที่ทุกคนสามารถใช้งานได้จริง ทั้งขนาดและราคาก็ออกมาสู่ตลาดเครื่องดนตรีหลัก โดย Computer Music Melodian ของนาย Harry Mendell ที่ออกมาในปี1976 และรวมไปถึงเครื่อง Polyphonic digital sampling synthesizer ที่ผลิตโดยบริษัทจากออสเตเรีย Fairlight CMI โดยวางขายในปี1979
หลังจากนั้นหลายบริษัทก็เริ่มผลิตเจ้าเครื่อง แซมเพลอร์ กันออกมามากขึ้น โดยตัวที่ได้รับความนิยมมากในหมู่สายทำเพลงแนว ฮิพฮอพ คือเครื่อง E-mu SP-1200 ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้กันเยอะมากๆในหมู่สายงานดีเจ โดยตัวเครื่องนั้นจะเน้นเป็นเครื่องทำเสียงกลอง เพอคัชชั่น โดยเสียงเจ้าตัวนี้ฮิตมาก เราสามารถหาฟังได้จากเพลงในช่วงปี 1980s -1990s โดยเสียงจะมาจากเครื่องนี้แทบทั้งหมด
หลังจากนั้นไม่นาน บริษัท Akai ก็เข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องดนตรีด้วยอุปกรณ์ แซมเพลอร์ ที่มีระบบ เปลี่ยน Pitch และ Time Stretch “ระบบที่สามารถเปลี่ยน BPM ของเสียง แต่เสียงไม่ได้ยืดตาม ” จนแทบเรียกได้ว่าเป็น " เจ้าพ่อวงการ แซมเพลอร์ " กันเลยทีเดียว
และหลังจากปี 1980 บริษัทที่นำเทคโนโลยีการทำเสียงด้วยระบบ แซมเพลอร์ ก็คือแบรนด์ดนตรีชั้นนำอย่าง Korg นั้นเอง โดยในหลายๆซีรีย์เช่น Korg M1, Korg o1/W และ Korg Triton รวมทั้ง ซีรีย์ Korg Trinity อีกด้วย ส่วนทางฝั่งค่าย Yamaha ก็จะเป็นตัว SY Series
โดยเราจะเห็นว่าเจ้าอุปกรณ์ แซมเพลอร์ นั้น เป็นที่นิยมในทุกยุคจริงๆ เนื่องด้วยเสียงที่ได้ มีความสมจริง เพราะได้บันทึกเสียงมาจากเครื่องดนตรีจริง หรือแหล่งเสียงจริง รวมทั้งยังประหยัดงบประมาณในการหาเสียงอีกด้วย เพราะสามารถใส่เสียงเพิ่มเติมได้
คราวนี้ก่อนที่เราจะไปเลือกหาอุปกรณ์ แซมเพลอร์ แมชชีน มาเล่นกัน มาดูวิธีการเลือกซื้อกันหน่อยดีกว่า จะได้เอาไว้เปรียบเทียบเวลาจะซื้อหามาใช้กันครับ
ขั้นตอนการเปรียบเทียบระบบของอุปกรณ์ Sampler Machine
1. เครื่องสามารถเล่นเสียงได้พร้อมกันกี่เสียง ปัจจุบัน สูงสุดสามารถเล่นแซมเสียงได้พร้อมกันถึง 16 เสียง หรือมี Channel แยกมาให้ 16 Channel นั้นเอง
2. มีเมมโมรี่ที่สามารถโหลดเล่นเสียงได้เท่าไหร่ หรือง่ายๆ มีความจุบนตัวเครื่องเท่าไรนั้นเอง ส่วนใหญ่แทบทุกตัวจะมีช่องให้เราใส่เมมโมรี่การ์ดเพิ่มได้
3. ในกรณีที่เราจะนำเสียงที่แซมมา แล้วเล่นเป็นคอร์ด เราสามารถเล่นเสียงได้พร้อมกันกี่โน้ต หรือกี่ Voice
เช่น 4 Voice เวลาเราจะกดโน้ตให้เล่นพร้อมกัน จะกดได้แค่ 4โน้ต เท่านั้น
4. มีค่าบิท (Bit) หรือ ความละเอียดของเสียงที่เท่าไหร่ ปัจจุบันมีตั้งแต่ 12, 16, 24, 32 ยิ่งมาก ยิ่งดี เสียงคมชัด
5. มี Out Put เสียงได้กี่ Out Put
6. มีระบบ Step Sequencer หรือไม่ แล้วถ้ามีสามารถแพทเทินเสียง ได้สูงสุด กี่บาร์ ต่อ 1แพทเทิน
7. เสียงที่ให้มาในเครื่อง ไม่ใช่คำตอบว่าฟังค์ชั่นของเครื่องดีหรือไม่ เพราะเราสามารถใส่เพิ่มเองได้ครับ
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ในการตัดสินใจพิจารณาเลือกใช้นะครับ ก็ค่อยๆดูรายละเอียดเปรียบเทียบแต่ละตัวได้เลย แต่ในปัจจุบันมีหลายๆค่าย ที่ทำเป็นรูปแบบ ซอฟท์แวร์มาขาย โดยจะมี Midi Controller หน้าตาละม้ายคล้ายเครื่อง แซมเพลอร์ มาให้เราได้เลือกเล่นกันด้วย แต่ราคาบ้างรุ่นบ้างยี่ห้อแพงกว่าเครื่องที่เป็น แซมเพลอร์ จริงอีกต่างหาก แต่ด้วยความสะดวกหลายท่านจึงเลือกใช้กัน แต่ถ้าใครอยากจะทำเพลงโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ให้วุ่นวาย อยากนำไปเล่นกับวงดนตรี กับเซ็ตดีเจของตนเองหรือสร้างเพลงของตัวเอง ก็ลองดูกันนะครับ
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านจนจบครับ หวังว่าคงจะได้ไขข้อข้องใจในอุปกรณ์ที่ชื่อ แซมเพลอร์ แมชชีน กันไปบ้างนะครับ เพราะปัจจุบันสินค้ามีให้เลือกเยอะ หลายยี่ห้อเอาหน้าตานำ แล้วเอาเงินอัดโฆษณาให้คนรู้จัก แต่อุปกรณ์เองไม่ได้ตอบโจทย์ในระยะยาวอย่างที่คิด แต่บ้างตัวกลับไม่เคยโฆษณาแต่ทำให้เราใช้มันสร้างผลงานในระดับสุดยอดออกมาเลยก็ได้ ขอบคุณทุกท่าน ที่ติดตามอ่านจนจบครับ วันนี้สวัสดีครับ
บทความโดย อาจารย์ นับ อินเอียบีท