top of page

10 ศิลปิน 'อิเล็กทรอนิกส์-อินดี้' สมัยรุ่นพี่(เอง)


ย้อนกลับไปเมื่อประมาน 15ปีก่อน ยุคที่คลื่นวิทยุ ‘104.5 แฟทเรดิโอ’ และนิตยสารชื่อดังอย่าง ‘อะเดย์’ เกิดขึ้นมา..ทำให้คนในยุคนั้นตื่นตัว กับคำว่า ‘อินดี้’ เป็นอย่างมาก(ซึ่งอาจเป็นเพราะช่วงก่อนๆ ยังตามกระแส ‘ตลาด’กันอยู่) โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวงการเพลง ทำให้เราได้มี ‘เพลงอินดี้’เพราะๆได้ฟังกัน โดยเฉพาะงานเพลงอิเล็กทรอนิกส์มิวสิค..ที่มีแต่ระดับคุณภาพทั้งนั้น วันนี้แอดมินเลยถือโอกาสย้อนเวลาพาเพื่อนๆ ไป ‘ทัศนา’ เพลงอิเล็กทรอนิกส์เพราะๆ ยุคนั้นด้วยกันครับ

1.บลิสโซนิค (Blissonic) Photo From Blissonic.com

จากคำว่า ‘บลิส’ ที่แปลว่าความสุข ผสมกับ ‘โซนิค’ ที่หมายถึงเสียง..ทำให้วงอิเล็กทรอนิกส์วงนี้ ตั้งใจที่จะมอบ ‘เสียงดนตรีแห่งความสุข’ ให้แฟนเพลงอินดี้ และไม่อินดี้ทุกคน!! วงบลิสโซนิค ประกอบด้วยสมาชิกดูโอ้สองคนคือ นักร้องสาว ‘บิ๋ม’ มณีรัตน์ เรเชล ฮุนตระกูล และ ‘พีท ตันสกุล’ ซึ่งด้านดนตรีนั้น พีท ศึกษามาทาง Music Production & Engineering จากวิทยาลัยดนตรีเบิร์กลีย์ (Berkeley)โดยตรง..หลังจากที่ลองปล่อยเพลง ‘ครั้งแรก’ ที่แฟตเรดิโอ ก็พุ่งแรงติดชาร์ตในช่วงนั้น จนถึงขนาดที่ผู้บริหารคลื่นอย่าง 'ป๋าเต็ด' (ยุทธนา บุญอ้อม) เชียร์ให้พวกเขาไปลองทำอัลบั้มเต็มดู..เชื่อมั้ยว่าสตูดิโออัลบั้มของพวกเขานั้นใช้เวลาทำนานถึง 3ปีเลยทีเดียว!! โดยได้สองหนุ่มโซฟา มาร่วมปรึกษาด้านดนตรีและช่วยเขียนเนื้อเพลง แถมยังส่งไปทำมิกซิ่งและมาสเตอร์ริ่งไกลถึงอังกฤษ และได้ Streaky ที่เคยทำมาสเตอริ่งให้กับคนดังมากมาย (อาทิ Fatboy Slim.. Britney Spears.. และ Groove Amarda) มาทำให้ด้วย!!

เพลง 'ครั้งแรก' หนึ่งใน EPอัลบั้มของ Blissonic ในปี2002 โดยจะประกอบด้วยเพลง ครั้งแรก.. เช้า.. แกะ.. purified และเช้า instrumental version

เพลงบอกฉันหน่อย กับสตูดิโออัลบั้มแรก อย่าง 'ออโตเมติก' ที่ใช้เวลาทำกันนานถึงสามปีด้วยกัน ก็ถูกปล่อยออกมาในปี 2005 โดยประกอบด้วยกัน10เพลง ในสังกัดค่าย จีนี่เรคอร์ดส

2.กรู๊ฟวี่ แอร์ไลน์ (Groovy Airline)

เชื่อว่าหลายคนคงไม่ค่อยคุ้นหูกับดนตรีแนวที่เรียกว่า ‘ชิบูยาเกะ’ (Shibuya-Kei) หรือหมายถึงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ สไตล์ชิบูย่ากันสักเท่าไหร่..ดนตรีแนวนี้จะผสมผสานระหว่าง Electronica.. Punk.. Jazz.. หรือกระทั่งแนวที่(เคย)ฮิตกันอย่าง Bossa Nova ครับ โดยวงดนตรีอินดี้ ‘กรู๊ฟวี่ แอร์ไลน์’ จะเป็นวงดูโอ้สองคนครับ มี ‘ขวัญ’ ชนกมาศ พืชผลทรัพย์ รับหน้าที่ขับร้อง และดนตรีทั้งหมดจะทำโดย ‘แจ็ค’ นิตินาท สุขสุมิตร ซึ่งเป็นถึงมือกีต้าร์ วงอัลเทอร์เนทีฟร็อกในตำนานอย่าง ‘พราว’ และเคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งค่ายสมอลล์รูมครับ !! กรู๊ฟวี่ แอร์ไลน์ ถือเป็นวงอิเล็กทรอนิกส์ใสๆ กรู๊ฟสวยๆ ที่สไตล์โดดเด่นกว่าวงอื่น..ในช่วงนั้นด้วยครับ!!

เพลง 'จิตรกรรม' อยู่ในอัลบั้ม Smallroom 001 : What Happens In This Small Room

เพลง 'ตื่นนะ'(Wake up!) อีกหนึ่งเพียงที่ตามมาต่อเนื่องกับโปรเจค รวมศิลปินของ สมอลล์รูม กับ Smallroom 002 : Songs From The Audience

3.ฟังกี้วาวา (Funky Wah Wah)

ชื่อนี้อยู่คู่วงการอิเล็กทรอนิกส์อินดี้พอสมควร กับอัลบั้มฉายเดี่ยวของ ‘บี’

สราวุธ ชินนภาแสน มือกีต้าร์วงซุปเปอร์กลู (วงดิสโก้-ร็อก ที่มีเพลงติดชาร์ทอันดับหนึ่งของเมืองไทยอย่าง ‘ถามใจ’) ก่อนหน้านี้ ฟังกี้วาวา จะโดดเด่นในเพลงแนว ซินธ์-ป๊อบ ที่นอกจากเสียงซินธิไซเซอร์เก๋ๆแล้วยังผสมเข้ากับเบสที่มีกลิ่นดิสโก้ ตามแนวถนัด และกีตาร์ แบบฟังก์ ของ ‘บี’ สราวุธด้วยครับ แถมแต่ละคนที่มาร้องให้ ก็สุดยอดอีกด้วย (โดยปัจจุบันแนวเพลงของ ฟังกี้วาวา จะปรับไปตามยุคสมัยครับ)

เพลง 'ความรักที่ซ่อนไว้' ของ ฟังกี้วาวา ที่ได้ คัทโตะ วงลิปตา มาฟีจเจอริ่ง กลายเป็นเพลงอิเล็กทรอนิกอารมณ์ฟังก์ที่ โรแมนติกมากๆ

เพลง 'สิ่งดีๆที่หายไป' ของ ฟังกี้วาวา ร้องโดย 'บอย' ตรัย ภูมิรัตน์ แม้เพลงนี้ไลน์อิเล็กทรอนิกส์จะน้อยหน่อยแต่ ครบในเรื่องของดนตรีสไตล์ ฟังกี้วาวา

เพลง 'อย่าทำอย่างนี้กับฉันเลย' เป็นเพลงที่อยู่ใน อัลบั้ม Love is vol.2 บอย โกสิยพงษ์ และ กมล สุโกศล แคลปป์

4. คาสิโนโทน (Casinotone)

อีกหนึ่งศิลปินและโปรดิวเซอร์ผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง ‘ตั๋ง’ จักรชัย ปัญจนนท์ เพื่อนสนิทสมัยประถมของ ‘บี’ฟังกี้วาวา ที่แม้จะจบสาย ‘สถาปัตยกรรมภายใน’ แล้วทำงานด้านออกแบบอย่างจริงจังแล้ว แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งความฝันด้านดนตรีเลย โดยได้ออกอัลบั้ม ‘อิเล็กทรอนิกมิวสิค วอลลุ่มวัน’(Electronic Music Volume1) ในนามคาสิโนโทนปี 2000 ซึ่งถือว่าเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่ผลักดันดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ให้แฟนเพลงนอกกระแส ได้เสพกันในเวลานั้น ถ้าพูดถึงเพลงที่ดังติดชาร์ท ก็มีทั้ง ‘มันไม่เคลียร์’ และ ‘คนสุดท้าย’ ที่ผสมระหว่าง เฮาส์(โซลฟูล).. ดิสโก..ทริปฮอป(แนวต้นกำเนิดของ กลิธช์ฮอป) ปัจจุบัน ‘ตั๋ง’ จักรชัย ปัญจนนท์ สานต่อความฝันด้านดนตรี โดยการก่อตั้งค่ายดนตรีอิเล็กทรอนิกอิสระอย่าง Comet Records ที่ผลิตศิลปินระดับคุณภาพออกมามากมาย

เพลง 'คนสุดท้าย' ของ Casinotone อัลบั้ม Electronic Music Volume1 อีกหนึ่งเพลง อิเล็กทรอนิกส์ ฮิตติดชาร์ท บนคลื่นวิทยุ แฟตเรดิโอช่วงนั้น

เพลง 'สงสัย' ที่ปล่อยออกมาภายใต้สังกัด 'สไปซี่ดิสก์' ทิ้งช่วงจากชุดแรกไปถึง 6ปีเต็ม เพลงนี้ได้ทำงานร่วมกับ 'บี' ฟังกี้วาวา ด้วยครับ

5. คิดแน็ปเปอร์ส (Kidnappers) Photo From Slowlylife.net

ย้อนกลับไป เมื่อประมาณ 20กว่าปีที่แล้ว ภควัฒน์ ไววิทยะ และ ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ ฟอร์มวง ‘คิดแน็ปเปอร์ส’ ด้วยใจที่รักในดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ จนในปี 1993 ได้ ‘ปิ่น’ เก็จมณี เก็จมณี พิชัยรณรงค์สงคราม(อดีตนางเอกละครดัง) ปล่อยอัลบัมแรก ‘แสลง’ และตามมาด้วย ‘ฝน’ ที่ดังพอควรเลย!! จากนั้นวงออกไปเก็บตัวอีกสักพักและได้รับสมาชิกใหม่เพิ่ม คือจามร วัฑฒกานนท์ และได้นักร้อง 'นู๋' มนต์ทิพย์ ลิมปิสุนทร จนออกอัลบั้ม “Set” ในปี 2003 (10ปีต่อมา) และล่าสุดถัดมาในปี 2015 คิดแน็ปเปอร์ส กลับมาอีกครั้ง!! ในสังกัดของ สไปซีดิสก์ โดยมี 'ดิว' ดิษยา กรกชมาศ มาเป็นนักร้องรุ่นที่สามของวง!!

เพลง 'ปล่อย' ซึ่งขับร้องโดย 'ดีเจนู๋' มนต์ทิพย์ ลิมปิสุนทร ในอัลบั้ม 'เซท' อีกหนึ่งเพลงยอดฮิตตลอดกาลของหนุ่มสาวยุคนั้น

เพลง 'ฝน' ของคิดแน็ปเปอร์ส ในอัลบั้ม 'แสลง' แม้เพลงนี้จะผ่านมาเกือบ 23ปีแล้ว แต่ด้วยความเป็นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ จึงยังคงทำให้ดูสดใหม่อยู่

6. โฟโต้ สติกเกอร์ แมชชีน (Photo Sticker Machine) Photo From Klongdigital.com

ตู้สติกเกอร์ เข้ามาเมืองไทยครั้งแรกในปลายปี 90 ซึ่งพูดได้เลยว่า ‘โคตรฮิต’ และเป็นกิจกรรมที่วัยรุ่นทุกคนต้อง ไป ‘อัด’กันอยู่ในนั้นแล้วถ่ายรูป ออกมาเป็นสติ๊กเกอร์หนึ่งแผงมาตัดแบ่งกัน(ซึ่งถ่ายครั้งหนึ่งก็แพงมาก) แต่ก็ถือเป็น "ความสนุกที่อัดแน่นสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม" คอนเซ็ปต์ที่ว่านี้ไม่ต่างกันกับเพลงของ ‘โฟโต้ สติกเกอร์ แมชชีน’ หรือโปรเจคของ วิชญ์ วัฒนศัพท์ หรือที่รู้จักกันในนาม โหน่งทีโบน อดีตสมาชิกวงทีโบน และยังเคยเป็นสมาชิกรุ่นแรกของ วงแนว ‘สวีดีชป็อป’ อย่างละอองฟองอีกด้วย โดยสไตล์ของ ‘PTSM’ จะเป็น แนว ‘Electronic Pop’ ที่เน้นฟังสนุก แถมแต่ละเพลงก็นำเสนอได้อย่างสุดโต่งมาก อย่างเช่น Point เพลงกลิ่นอายดิสโก้ เนื้อหาสอนลูกสอนหลาน โดยขับร้องแบบสไตล์สุนทรภรณ์ (กันเลยทีเดียว) และอีกเพลงที่น่าสนใจคือ Saturday Night เพลงแนวบ่น(เชิงปรัชญา) ที่ได้ ‘ส้ม’ อมรา ศิริพงษ์ มาร่วมงาน

เพลง 'พ้อยท์'(Point) กับความเป็นอิเล็กทรอนิกส์ดนตรี ฟิ่วชั่นความเป็นไทยสไตล์เพลงลูกกรุง..จนงามดีพร้อมด้วยเนื้อหาที่โดนใจ และทำนองเท่ๆประหนึ่ง 'ดิสโก้มิวสิคเคิล' เลยล่ะ

ฉีกทุกกฎของดนตรีไทย ในช่วงนั้นกับ 'แซทเทิร์นเดย์ ไนท์' (Saturday Night) อธิบายได้คำเดียวว่า 'แนว' ด้วยการบ่น(ไม่ใช่แร็พนะครับ)..ประกอบเสียงร้อง ลอยๆ ของ 'ส้ม' อมรา ศิริพงษ์

7. มาร์เชียน-ไนน์ตี้ไนน์ (Martain99)/อีเคล็กติค สุนทราภรณ์(Eclecxtic Suntaraporn)

Photo From Mqdc.com

อีกหนึ่งคนดนตรี ที่มีอิทธิพลต่อวงการมานาน ‘ซี้ด’ นรเศรฐ หมัดคง คนนี้ เป็นมาหมดแล้ว ทั้งนักร้อง มือกีตาร์แนวร็อก คนทำนิตยสารดนตรี ดีเจรุ่นเก๋าของวงการ นักวิจารณ์ฝีปากกล้า และอาจารย์มหาวิทยาลัย! แต่วันนี้ขอพูดถึงงานดนตรีสองงานในยุคที่ ‘อินดี้เฟื่องฟู’ อย่างโปรเจค มาร์เชียน-ไนน์ตี้ไนน์ ที่ปรากฎตัวอยู่ในอัลบั้มสมอลล์รูม 001 และ 002 นอกจาก โดยเฉพาะเพลง ‘ฝัน’ ในอัลบั้มนั้น มิวสิควิดีโอก็เก๋มาก เพราะอยู่ในแผ่น VCD ที่แถมมากกับนิตยสาร Disc@Zine ฉบับที่4 (อารมณ์ประมาณ ‘แรร์ไอเท็ม’ มากๆ เพราะนอกจาก MV แล้วยังมี ‘น้อยวงพรู’ ออกมาเต้นแบบหลุดโลกอีกนะ) ส่วนอีกผลงานที่ฟิวชั่นระหว่างความเป็นไทยและการเล่นอิเล็กทรอนิกส์ สไตล์ไลฟ์แบนด์ ได้อย่างมีระดับกับ ‘อิเคล็กติค สุนทราภรณ์’ โดยมีพี่ซี้ดและวงมหาจำเริญมาร่วมด้วย!

เพลง 'ฝัน' อัลบั้ม Smallroom 002 : Songs From The Audience ซึ่ง 'ดีเจซี้ด' ออกมาในนาม มาร์เชียน-ไนน์ตี้ไนน์ (Martain99) โดย MVของเพลงนี้แถมมาจาก นิตยสาร Disc@Zine (ฉบับรวมบทความของ วินทร์ เลียววาริณ)

เพลง 'ปรัชญาขี้เมา' ของ 'อีเคล็กติค สุนทราภรณ์' เป็นแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สด สลับท่อนแซมเพิล เพลงออริจินอล ของสุนทราภรณ์ ที่แต่งเนื้อร้องโดย 'ครูแก้ว' หรือ 'แก้วฟ้า' อัจฉริยะกุล และทำนองโดย 'ครูเอื้อ' สุนทรสนาน หัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์

8. สมเกียรติ ซีมิกซ์ (Zomkiat Z-MYX)

บุคคลที่ถือว่าเป็นตำนาน และเป็นผู้บุกเบิกวงการ ‘อีดีเอ็ม’ ยุคแรกๆของเมืองไทย ด้วยอัลบั้ม ‘ซีมิกซ์’ ที่ปล่อยออกมาตั้งแต่ต้นยุค 90 ซึ่งถ้าเป็นสตูดิโออัลบั้ม ก็มีทั้ง ซี-สมเกียรติ(1992).. วอลลุ่ม10(1993).. ซิกม่า (1994).. ซีเควนซ์(1995).. รีเทิร์น ทู เรโทร(2000).. จนมาถึงอัลบั้ม 4F=M ในปี 2008 สำหรับสมเกียรตินั้น นอกจากความเป็นนักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหญ่แล้ว เขายังเป็นหนึ่งในผู้บริหารค่ายเบเกอรี่มิวสิค(ที่โด่งดังสุดๆ)ในยุคนั้น..แถมยังสานต่อความสำเร็จด้วยการสร้างค่ายโดโจซิตี้..เปิดโลกดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ให้กลุ่มวัยรุ่นตอนต้น(Early-Teenage) อย่างผลงานของสองสาว ‘ไทรอัมพ์ส คิงดอม’ อีกด้วย!!

เพลง 'ตอนนี้'(Now) ของ สมเกียรติ ที่ปล่อยออกมาใน 'ยุคอินดี้เฟื่องฟู' นั้น จะเริ่มตั้งแต่อัลบั้ม Zequence และอีกครั้งใน รีเทิร์น ทู เรโทร

เพลง 'อยากหลับตา' ให้เสียงร้องเพราะโดย พี่นภ พรชำนิ กับ สมเกียรติ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเพลงอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีที่สุด ของเบเกอรี่อีกด้วย

9.มัว (Moor) Photo From Krittg.wordpress.com

วงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็น ‘ซุปเปอร์กรุ๊ป’ อีกหนึ่งวง เพราะประกอบด้วยศิลปินตัวเป้งของวงการ อย่าง ‘รุ่ง’ รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์.. ‘เจ’ เจตมนต์ มละโยธา และ ‘เชาว์’ เชาวเลข สร่างทุกข์(ซึ่งช่วงหลังแยกตัวออกมาเปิดค่าย ทิกเกอร์ ทวินส์) ซึ่งทั้งสามยังเป็นผู้บริหารรุ่นแรกที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของค่ายใหญ่อย่าง ‘สมอลล์รูม’ โดย โปรเจค ‘มัวร์’ ของพวกเขานั้น ออกมา 2เพลงครับ กับอัลบั้มสมอลล์รูม 001 และ 002 ซึ่งเพลง ‘แต่งงาน’ ของอัลบั้มหลัง ที่ได้ กฤช ทวีสิน จากวงสยามซีเคร็ทเซอร์วิส มาร้องให้นั้น กลายเป็นเพลงระดับตำนานของ วงการอินดี้ช่วงนั้นเลยครับ

เพลง 'เธอเป็นใคร' ของ มัวร์(Moor) อยู่ในอัลบั้ม สมอลล์รูม 001 ซึ่งโดดเด่นด้วยการ 'Chop' เสียงกีต้าร์ ประกอบการเล่นสไตล์อิเล็กทรอนิก และที่เจ๋งสุดๆ เป็นการเล่นรูปแบบ 'รีเวิร์ส' ในช่วงท้าย

เพลง 'แต่งงาน' อยู่ในอัลบั้ม สมอลล์รูม 002 เป็นเพลงที่จัดว่า 'หล่อ' สุดๆในช่วงนั้น โดยได้เสียง กฤช ทวีสิน มาร้อง

10.อัลบั้ม ‘คาเฟ่’ ของโมเดิร์นด็อก (Moderndog)

ศิลปินสุดท้ายที่จะพูดถึงนั้น ไม่ใช่วงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ซะทีเดียว แต่ด้วยการนำ ‘ซาวด์ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์’ จนออกมาได้รสชาติ ที่แปลกใหม่ในช่วงนั้น(ชวนให้นึกถึงวงร็อคระดับโลก อย่างเรดิโอเฮด เหมือนกันนะ) จึงขออนุญาติหยิบยกโมเดิร์นด็อก มาให้ฟังกันครับ.. สำหรับวงโมเดิร์นด็อกนั้น ถือเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ วงดนตรีนอกกระแส(อินดี้) พวกเขาเป็นทั้งศิลปินเบอร์แรกของค่ายเบเกอรี่ เป็นผู้จุดประกาย ‘อัลเทอร์เนทีฟร็อค’ ในเมืองไทย และเป็น ‘ไอดอล’ ที่ดีสำหรับนักดนตรียุคนี้อีกด้วยครับ

แม้อัลบั้ม 'คาเฟ่' จะเป็นอัลบั้มที่ปล่อยออกมาในปี 1997 ก่อนยุคแฟตเรดิโอ และกระแสอินดี้จะมาแรง แต่สำหรับวงโมเดิร์นด็อกนั้นถือเป็น ผู้จุดประกายให้วงดนตรี นอกกระแสหลายๆวงครับ โดยเฉพาะเพลงต่างๆในอัลบั้มนี้ มีการนำซาวด์อิเล็กทรอนิกส์มาใส่ด้วย ลองเข้าไปฟังเพลง 'ที่จริงในใจ' ของพวกเขากันครับ

เพลง 'รูปไม่หล่อ' อีกหนึ่งเพลงในอัลบั้ม 'คาเฟ่' ที่โดดเด่นด้วยการประยุกต์ซาวด์ดนตรี อิเล็กทรอนิกส์กับดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อค

นี่ไม่ใช่การจัดอันดับนะครับ จริงๆยังมีอีกหลายวงดนตรีนอกกระแส ในสไตล์อิเล็กทรอนิกส์ อยู่อีกเยอะ เช่น ฟูตอง(Futon) ที่เป็นวงอิเล็กโตร-พั้งค์(ร็อค) ... ลิมูซีน(Limousine) วงอิเล็กทรอนิกส์-อาร์แอนด์บี... แคทชู(Katsue) โปรเจครวมตัวของสองซุปตาร์ อย่าง ‘เจ’ มณฑล และ ‘จอนนี่’ อันวา หรือถ้าย้อนไปยุคก่อนหน้าแบบ ‘อินดี้รุ่นปู่’ (อันนี้ไม่ได้หมายว่าแก่นะครับ แต่เปรียบเหมือน พี่รหัส ปู่รหัส อะไรยังงี้) ก็จะมีทั้ง ‘หรั่ง’ ร็อคเคสตร้า และ ‘ธเนศ’ วรากุลนุเคราะห์ ที่นำซาวด์ซินธิไซเซอร์ ซาวด์เอฟเฟกต่างๆ หรือกลองไฟฟ้ามาใส่ลงในงานดนตรี (ซึ่งถ้าครั้งหน้ามีโอกาส ผลจะนำศิลปินอินดี้รุ่นอื่นๆมาพูดถึงกัน)

จะเห็นได้ว่า..แม้เพลงในช่วงนั้นจะขึ้นชื่อว่าเป็นดนตรี ‘อินดี้’ นอกกระแส แต่ผลงานส่วนใหญ่ ล้วนอยู่ในเกณท์คุณภาพ และเกิดจากบรรดา นักดนตรีและศิลปินระดับ ‘รุ่นพี่’ ของวงการทั้งนั้น ซึ่งแต่ละชิ้นไม่ได้เน้นแค่ไอเดียใหม่ๆในการนำเสนอเท่านั้น แต่ยังคงไว้ด้วย ‘ความเพราะ’ และ ‘ความบันเทิง’ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเพลงด้วย ..เหมาะแก่การที่ โปรดิวเซอร์ และนักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์รุ่นนี้ นำไปศึกษานะครับ

ส่วนถ้าที่มีความฝันอยากเริ่มต้นเป็นโปรดิวเซอร์ อยากทำเพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์ เรียนรู้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน จนไปถึงขั้นแอดวานซ์ ทางโรงเรียนดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ อินเอียบีท มีคอร์สเรียน Basic Producer ไว้รองรับครับ หรือถ้าใครมีวงดนตรีอยู่แล้ว และอยากประยุกต์งานดนตรีด้วยซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ ลองสร้างเลเยอร์ ลองสร้างมิติของงานเพลงเราให้มากขึ้น ลองเข้าไปดูคอร์ส Electronic Musician ของอินเอียบีทกันเลยครับ

--- บทความโดย Choco Beat ---

Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page