top of page

5ประเด็นดีเบตเดือด “อะไรคือการเล่น..ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สด”!!


จากการสร้างจังหวะดนตรีในถ้ำ มาสู่การให้จังหวะดนตรีในโบสท์ จากเล่นดนตรีในโรงรถ มาสู่การแสดงบนเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ๆ..สิ่งนี้บ่งบอกได้ว่า 'ดนตรีสด' นั้นเดินเคียงคู่กับวิถีชีวิตของมุนษย์มานานแล้ว..และการพัฒนาต่างๆ เดินทางมาสู่การเรียนรู้ที่จะ ‘บันทึก’ ดนตรีสดเหล่านั้น..ซึ่งทำให้เราสามารถฟังดนตรีในองค์ประกอบเดิมได้เรื่อยๆ หรือกระทั่งเลือกเฉพาะแต่ ‘ช่วงที่ดีที่สุด’ มาใช้!! และนั้นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง!!

มาถึงในยุคปัจจุบัน ที่วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเดินทางไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมงานสตูดิโอเคยเป็นแค่ ‘การบันทึกเพื่อมาเล่นซ้ำ’ กลับกลายเป็นว่าศิลปินและคนทำเพลงเริ่มใช้สตูดิโอเป็นเหมือน 'เครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง’ ถึงขนาดสร้างงานออกมาเป็นอัลบั้ม โดยไม่จำเป็นต้องเพอร์ฟอร์มซ้ำหลายๆรอบเลยทีเดียว.. มันอยู่ภายใต้คอนเซปต์ที่เราเรียกกันว่า ‘โปรดิวเซอร์’ แบบสมัยนี้นั่นเอง!! ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ ประกอบกับการที่ดนตรีสดนั้น ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ตอนนี้ศิลปินต่างดึงความสามารถของเทคโนโลยีนี้ออกมาได้อย่างเต็มที่ และแบ่งปันประสบการณ์ ส่งผ่านให้กับคนรุ่นต่อๆไป พัฒนาอย่างไม่มีอะไรมาแทนที่

ปัจจุบันนี้ ไอเดียของการ แสดงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แบบสดๆนั้น ไม่ได้เป็นเหมือน ‘เรื่องนอกโลก’ สำหรับคนฟังอีกต่อไปแล้ว (แม้ก่อนหน้าจะมีการถกเถียงกันอย่างมากก็ตาม) และแน่นอนสำหรับนักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เอย โปรดิวเซอร์เอย หรืออะไรก็ได้ที่คุณต้องการจะใช้เรียกพวกเขา..คนพวกนี้คือ ‘คนดนตรีสายพันธ์ุใหม่’ ไม่เหมือนกับพวกคนดนตรียุคก่อน!! ด้วยการนำคอนเซปต์และไอเดีย 'พื้นฐานของการแสดงดนตรีสด ' ประยุกต์เข้ากับ การสร้างสรรค์ในสไตล์โมเดิร์นที่ว่านี้ จึงถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากๆ และหลีกเลี่ยงปัญหาในเรื่องความเข้าใจของคนดูได้ยาก...ช่วงก่อนหน้านี้ ถึงขนาดคนดูไม่สามารถแยกแยะได้ว่า นักดนตรีเอาคอมพิวเตอร์มาเชคอีเมลล์บนเวที หรือเอาคอมพิวเตอร์มาใช้แสดงดนตรีอยู่กันแน่!! แม้จะดูเป็นตัวอย่างที่สุดโต่ง แต่มันก็อธิบายได้ดีสำหรับปัญหาที่นักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเจอ

วันนี้แอดมินคัด 'บทเสวนาถาม-ตอบ' ในเรื่องของการเล่นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สดจาก Factmag.com มาฝากกันครับ เป็นการดีเบตของ นักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ สายเพอร์ฟอร์มจากหลายประเทศ ที่ต่างกันทั้งแบคกราวน์ทางดนตรี เทคนิคและรูปแบบการเล่นครับ จะเป็นอย่างไรบ้างลองไปดูกันครับ

'Debruit' หรือ Xavier Thomas จากฝรั่งเศส (Photo From Aaamusic.co.uk)

วง 'Archie Pelag' จากนิวยอร์ก ประกอบด้วย Zach.. Greg..และ Dan (Photo From Galerieproject.com)

'Comfort Fit' หรือ Broris Mezga จากเยอรมัน (Photo From Comfortfit.Bandcamp.com)

'Scanner' หรือ Robin Rimbaud จากอังกฤษ (Photo From Munrosonic.com)

1. นิยามของ การแสดงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สด คืออะไร?

Scanner : “มันคือคำถามง่ายๆ แต่ต้องตอบกันยาวเลยนะครับ..ผมว่ามันออกจะชัดเจนในความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เราเรียก ‘ดนตรีที่บันทึกเสียงไว้แล้ว’ กับ ‘ดนตรีที่เล่นกันสดๆ’ ซึ่งตัวผมก็เป็นทั้งเพอร์ฟอร์มเมอร์ และเป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญในงานด้านสตูดิโอนานถึง 20ปีด้วย..ทำให้รู้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกพัฒนามาโดยตลอด และหัวข้อที่เรามาพูดถึงกันวันนี้นั้น.. มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกว้างสำหรับการพูดถึง 'ดนตรีที่ไม่เคยห่างจากคอมพิวเตอร์' ..การสร้างดนตรีทั้งหมดถูกทำภายในระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการเล่นสดคือการ ‘แสดง’ หรือ 'นำมันออกมา' ข้างนอกเท่านั้น!! ผมมองระบบทั้หมดเหมือนกับเวที..เป็นเหมือนโรงมหรสพสุดล้ำนั่นเองครับ!!

Archie Dan : สำหรับผม การเล่นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สด มันเป็นเรื่องของ ‘ความรู้สึก’ นะครับ..พูดว่า..มันคือองค์ประกอบหนึ่งของการแสดงสด ‘ที่มันมีแอคชั่นจริง สัมผัสได้จริง’ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม มันไม่ได้ง่ายๆเป๊ะๆอย่างที่คนภายนอกเห็น.. แถมยังมีความเสี่ยงใน 'เล่นพลาด' อยู่ตลอด..ไม่ต่างอะไรกับการ ‘เดินไต่ลวด’ เลยล่ะ!!

Debruit : ผมเห็นด้วยกับที่พูดๆกันมานะครับ คุณมีสิทธิที่จะผิดพลาดระหว่างการเล่นอยู่ตลอด เพราะนั่นแหล่ะคือความรู้สึกของการเล่น ‘ดนตรีสด’!! และมันยังเป็นการนำเสนอ บางสิ่งที่แตกต่างกัน ระหว่างดนตรีของคุณในรูปแบบการเล่นสด ต่อหน้าผู้คนที่เคยฟังผลงานเวอร์ชั่นสตูดิโอของคุณแล้ว!

Archie Zach : ผมคิดว่า เกี่ยวกับอะไรที่คนชอบใน ‘ดนตรีสด’ รวมทั้งตัวผมด้วย มันเป็นเหมือนการเป็น 'ประจักษ์พยาน' ในสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรก!! ผมคิดว่าดนตรีสด มันต้องเป็นอะไรที่ ‘ไหลลื่นออกมาจากธรรมาชาติ’ จริงๆ..ในทุกจังหวะที่คนดูตอบรับกับ สิ่งที่คนเล่นเสนอ!! เหมือนกับบทสนทนาที่ยอดเยี่ยมครับ!

Comfort Fit : สำหรับผมทั้งหมดมันเกี่ยวกับการ ‘กระทำ’(Action) และ ‘การตอบสนอง’ (Reaction) ซึ่งถ้าคุณไม่เห็นผลของการตอบสนอง ในการกระทำนั้นเลยบนเวที ผมไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามันคือการเล่นเพอร์ฟอร์มสด!!.. คุณจะเอาเรื่อง 'การกระทำ/การตอบสนอง' มาใช้ได้ ตัวอย่างเช่น เรามีโมดูลาร์ ซินธิไซเซอร์ ที่สามารถ บิดปุ่มพารามิเตอร์ และอาจจะเล่น ซีเควนเซอร์ หรือใช้การทริกเกอร์แบบเรียลไทม์ โดยผูกกับคอมพิวเตอร์ที่เปิดโปรแกรมไลฟ์.. แล้วเล่นดรัมหรืออื่นๆ ผมคิดว่าทั้งหมดนี้คือไอเดียของ การกระทำ/การตอบสนอง ที่ว่าครับ!! แต่ถ้าคุณแค่เอาโปรแกรม Ableton Live มาเปิดเพลง โดยกด ‘เพลย์’ เฉยๆผมว่ามันไม่ใช่การแสดงสดนะครับ!!..สำหรับในความคิดของผมคนเดียวนะ

2. อะไรคือสิ่งที่ทำให้ การเล่นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ถูกเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ ‘ล้ำสมัย’(เกินไป) ในบริบทของการเล่นดนตรีสดของยุคปัจจุบัน!!

Archie Zach : ผมว่าความคิดแบบนี้..ทั่วโลกคงเหลือเพียงแค่ ‘คนกลุ่มน้อย’เท่านั้นล่ะครับ.. ตอนนี้เราอยู่กันในบรู๊คลิน(นิวยอร์ก) เป็นที่ที่คนอื่นๆก็เล่นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สด ทั้งเหมือนและอาจแตกต่างจากที่พวกเราในนี้เคยทำ..คือมันก็อยู่ในบริบทเดียวกันกับการแสดงทุกดนตรีละครับ..อยู่ในเส้นเลือดเดียวกัน ผู้คนต่างมีความอิสระในการนำเสนอ..คนทั่วโลกเติบโตและพัฒนากันมาจากสถานที่และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน..ในแต่ละครั้งที่มีอะไรมันโด่งดังขึ้นมา จึงเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ของดนตรีจากที่นั้นๆ!!

3. เคยมีสักครั้งมั้ย ที่คนดูมาบ่นกับคุณว่า "การเล่นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สดของคุณ ไม่เหมือนกับสิ่งที่พวกเขาคาดหวังไว้!!"

Debruit : ผมคิดว่า ยังมีคนจำนวนมากที่มาในงาน แล้วเขาคิดว่าพวกเราคือ ‘ดีเจ’ จากนั้นก็ฟังดนตรีที่มีซาวด์เป็นเอกลักษณ์ของผม แล้วตัดสินตรงนั้นว่า ‘ผมมิกซ์ไม่ดี’ ซึ่งเขาไม่รู้ว่าที่ผมนำเสนอนั้นคือการ ‘เล่นสด’ นะครับ!! ตัวอย่างเช่นผมชอบเลือกใช้ซาวด์ ‘นอยส์’ เวลาผมเล่นสด และคนส่วนใหญ่ที่คิดว่าผมเป็นดีเจ จะไม่คุ้นหูกับซาวด์นี้ และแน่นอนผมไม่มีแม้แต่ ‘เทิร์นเทเบิล’ มาสนองพวกเขา!! แต่เมื่อคุณได้มีโอกาสอธิบายคนดูในสิ่งที่คุณกำลังเล่นอยู่ คนส่วนใหญ่จะเข้าใจนะครับ.. คือผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนบนโลกใบนี้จะมาเข้าใจกับการเล่นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สดทั้งหมด..แต่อย่างน้อยเวลาพวกเขาได้รับฟัง น่าจะแยกแยะมันออกสักหน่อยก็ยังดี!!

Scanner : ผมว่าคนที่สับสนที่สุดคือพวกคนจัดงานด้วยครับ!! จากประสบการณ์จริงคือ ในอาชีพผมไม่เคยใช้คำว่า “DJ Scanner” เลยสักครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการลงพีอาร์ในข่าว หรือในเว็บไซท์ แต่ผลปรากฏว่า หลายๆครั้ง บนเวทีแสดงหรือเล่นในคลับ พวกเขาดันประกาศว่า 'DJ Scanner' ซึ่งผมนี่ลั่นเลย!! ตัวอย่างคลาสิคมากๆเกินขึ้นจริงเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมบอกโปรโมเตอร์ว่าให้ใช้ชื่องาน ‘This is Scanner Live’ และพอมาที่โปแลนด์พวกเขาดันทำป้ายว่า ‘Scannerlive’ เป็นคำเดียวเลย!! ซึ่งมันเป็นจุดเริ่มต้นของความผิดพลาดที่จะตามมา..เพราะมันเป็นคีย์สำคัญเลยครับ!

คนส่วนมากจะรู้กันว่า สมมุติศิลปินใหญ่อย่าง Beyonce หรือ Lady Gaga เวลาเล่นคอนเสริตเขาจะร้องเพลงกับ ‘แบ็คกิ้งแทรค’ครับ ซึ่งถ้าคนดูยังคงเห็นนักแสดงอยู่บนเวที มันก็พอพูดกันได้..แต่ผมว่ามันเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกันนะครับสำหรับกับการ 'สัมผัสถึง' และ 'จับทางได้' ของคนดู ซึ่งถ้าเขาไม่เข้าใจจริงๆ ก็คงคิดว่าถูกหลอกแน่ๆ

Archie Zach : สำหรับวงเรา..คนดูเห็นพวกอุปกรณ์ดนตรีต่างๆที่พวกเขาคุ้นเคย และก็เข้าใจนะว่าพวกเรานำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ด้วย.. แต่เรื่องของความเข้าใจว่าพวกเราทำอะไรจริงๆนั้นยังคงดูห่างไกลอยู่..แต่มันก็เท่ดีนะครับ.. บางครั้งก็มีพวกเนิร์ดเข้ามาดูว่าพวกเราทำอะไรกัน บางคนก็มาดูและฟังดนตรี หรือก็มีพวกที่ไม่รู้เลยว่า พวกเราคือ ‘วงดนตรีสด’ บางคนก็มาฟังเพลงในคลับและได้ยินเพลงของเราโดยไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร.. มันถือเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับพวกเขา

Archie Greg : ผมคิดว่าเรามีประสบการณ์ที่หลากหลายในเรื่องของ 'ความมีส่วนร่วมของฝูงชน' เรามีกลุ่มคนดูที่มาฟังเราแล้วรู้สึกร่วมไปกับดนตรี ทั้งเต้นและตอบสนองไปกับมัน และจากนั้นก็ยังมี คนที่สนใจในเรื่องของพวกเทคนิคต่างๆ ทั้งเรื่องของอุปกรณ์ดนตรีที่เราใช้ และสนใจว่า พวกเราแต่ละคนเล่นเชื่อมกันยังไงในรูปแบบของวงดนตรี..ทั้งหมดที่กล่าวมา มันชี้ให้เห็นถึง ‘ระดับความเข้าใจ’ ที่หลากหลายในกลุ่มของคนที่มาดูเราเพอร์ฟอร์มครับ!!

4. ไหนๆก็พูดถึงดีเจกันแล้ว พวกคุณคิดว่า ‘ดีเจ’ควรจะนับรวมกับ นักแสดงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์รึเปล่า

Archie Zach : ผมตระหนักว่ามันคือการ ‘แสดง' อย่างหนึ่ง เพราะว่าถ้าคุณเคยดูดีเจเก่งๆสักคนเล่น คุณจะรู้ว่าพวกเขา ‘ทำงาน’ อย่างหนักแน่นอน!! ตัวอย่างที่นึกได้เดี๋ยวนี้เลยคือ การได้เห็น Robert Hood เล่นกับเครื่อง CDJ สองเครื่องกับ สไตล์สอง Deck ตลอดเวลา 4ชั่วโมง.. สภาพที่เต็มไปด้วยเหงื่อของเขา ทำให้เรารู้ทันทีว่าเขาจริงจังกับมันอยู่ตลอดเวลาแน่นอนครับ.. ดังนั้นสำหรับผม ผมว่ามันเป็นเหมือนอุปกณ์สำหรับแสดงดนตรีชิ้นหนึ่ง.. ส่วนตัวผมนับดีเจ เข้าไปรวมกับ ‘ศิลปะการแสดงสด’ ด้วยครับ

Archie Greg : ผมว่ามันค่อนข้างจะตรงไปหน่อยนะ แต่แบบว่าถ้าคุณยืนดู ‘ยอดเชฟ’ ทำอาหาร.. เขาก็ให้คุณเห็นถึงการเพอร์ฟอร์มของเขา.. ซึ่งถ้าคำว่า 'การแสดง' หมายความว่าอาจจะมีใครก็ตามที่ 'ทำงานหนัก' ต่อหน้าฝูงชนคนดูเหรอ?..ผมก็แค่มองในมุมที่ต่างเท่านั้นนะ

Scanner : ผมว่ามันสำคัญนะถ้ามีสักคนมาเป็น 'ประจักษ์พยาน' ในการเพอร์ฟอร์ม และนั่นแหล่ะคือการแสดงล่ะ!! ตราบทำที่มันมีกลุ่มคนมาฟัง..ไม่สำคัญว่า มีคนสองคน มายืนดู ‘ยอดเชพ’ หรือ ‘ดีเจ’ หรือ จำนวนคนดูจะกลายจากสอง เป็นสองหมื่น!! สำหรับผมทุกช่วงที่พูดมันคือ การแสดงทั้งนั้น!!

5. คุณคิดว่าอะไรคือทางที่ดีที่สุด ในการช่วยคนฟังให้เข้าใจว่าเรากำลังเล่นอะไรอยู่บนเวที

Comfort Fit : ประมาณสองสามปีก่อน ผมเริ่มนำเสนอการเล่นสไตล์ ‘ดรัม คอนโทรลเลอร์’ ไปสู่คนดูแทนที่จะปล่อยให้พวกเขาจ้องแต่หน้าผม..มันทำให้พวกเขาได้เห็นด้วยว่าอะไรมันกำลัง 'เกิดขึ้น’ บนเวที และนั่นทำให้มีคนเข้ามาดูโชว์ในคลับมากขึ้น..มันสร้างผลตอบรับที่ดีและการ 'เปิดรับ' ของคนฟังที่มากขึ้นครับ แบบว่าพวกเขาเข้าใจได้ง่ายๆคือ 'ถ้าผมหยุดเล่น.. ดนตรีมันก็หยุดเล่นด้วย'!!

Scanner : เรื่องการใช้สภาพแวดล้อมในการแสดงมันก็น่าสนใจนะครับ เราหยิบยืมการเข้าที่อันหลากหลายได้ ผมยกตัวอย่างสภาพแวดล้อมที่ต่างกันเช่น ตอนนี้เราพูดถึงคลับใช่มั้ย นอกจากนี้ผมยังเล่นที่เวทีคอนเสริต และงานโชว์ที่ฟิกเก้าอี้ไว้ด้วย..หลายปีก่อนผมมีโอกาสได้ดู Stockhausen นำเสนอผลงานของเขาในลอนดอน ในงานนั้นกลับไม่มีองค์ประกอบพิเศษใดๆเลย มันมีแค่บุคคลในตำนานคนนี้เดินขึ้นมาบนเวทีแสดงอย่างสบายๆ แล้วก็กล่าวแนะนำผลงานของเขานิดหน่อย จากนั้นเดินไปที่ด้านหลังของ โซนคนดูแล้วกดปุ่มเพลย์สำหรับชิ้นงานที่บันทึกเอาไว้แล้ว ปล่อยให้คนดูเห็นแต่สเตจว่างๆ พร้อมกับซาวด์ที่ลองลอยไปรอบๆตัวเรา เมื่อชิ้นงานจบคนดูลุกขึ้นปรบมือ แล้วเขาก็เดินกลับเข้ามาบนเวที ในเสื้อฮูดตัวเดิม และแนะนำงานชิ้นต่อไป เป็นอย่างนี้ไปประมาณ 2ชั่วโมง ด้วย 40นาทีของงานดนตรี

ย้อนกลับไปวันนั้น ผมก็ตระหนักได้ว่า มันเป็นการ ‘ดึงคนดู' ให้มีส่วนร่วมโดยไม่ต้องมาสนใจว่า เราฟังชิ้นงานจากเทปบันทึก? หรืออะไรเป็นต้นกำเนิดของซาวด์พวกนั้น? หรือเราไม่รู้เลยว่าอะไรเกิดขึ้นหลังโซนคนดู แต่การที่เขาแนะนำในชิ้นงานของเขา..การที่เข้าพูดถึงรายละเอียดและบริบทต่างๆของตัวงาน มันเป็นการตอบโต้กับคนจริงๆ และสำหรับผมเอง เมื่อผมเล่นโชว์ของผม จะมีการพูดกับผู้ชมก่อน เพื่อสร้าง 'พันธะ' ระหว่างศิลปินและคนดูขึ้นมา ผมคิดว่าการสร้างอารมณ์ร่วมนั้นมันเป็นสิ่งที่มีค่ามากๆครับ

Archie Greg : ครั้งหนึ่งผมเคยรับมาอยู่งานหนึ่ง ผมได้ไปเล่นเชลโล ให้กับนักร้อง/คนเขียนเนื้อเพลง ซึ่งเพลงของเขาก็ถือได้ว่า 'โอเค' ในระดับหนึ่ง แต่วิธีการ 'กล่าวโยง' ระหว่างเพลงของเขานี่สิ..สุดยอดในการดึงคนดูจริงๆ ผมไม่เคยเห็นใครหยอกล้อกับคนดู ได้เยี่ยมเท่าคนคนนี้เลยครับ.. เขาดูเชี่ยวชาญในการเล่นกับคนดูมากๆ ทั้งการเทคนิคการดึงคน.. การยิงมุขตลก.. การรู้จังหวะที่ดีในการพูด และการโยงเข้ากับเพลงของเขาแบบอย่างเนียน ง่ายๆแต่สุดยอดมากๆ

Archie Dan : ถ้าเป็นเรื่องการเล่นกับคนดู ผมว่าพวกเราวง Archie ค่อนข้างที่จะมีลิมิตในการพูดและหยอกล้อนะครับ ส่วนใหญ่เราจะขอบคุณพวกเขาทุกครั้งที่เล่นจบเซท แต่ส่วนตัวผมมีความรู้สึกร่วมกับผู้ชมจากประสบการณ์ดีเจ ในการมองไปยังคนดูและใช้ ‘อายคอนแทค’ไปยังพวกเขา และพวกเราภายในวงเอง ก็มีการ ‘หยอก’ และ 'แอ็คชั่น' ระหว่างกันในการแสดง ซึ่งเราคิดว่าจะสื่อสิ่งเหล่านี้ไปยังคนดูได้เหมือนกัน และเมื่อเล่นจบเราก็พูดปิด และแนะนำวงเราอีกที่ ส่วนที่เหลือก็ให้ดนตรีของเราพูดแทนครับ

Scanner(เสริม) : ในฐานะศิลปินเดียว ผมคงเหงาน่าดูถ้าต้องพูดคนเดียวบนเวที(ฮา).. ถ้าเป็นเรื่องของ 'แบนด์ดนตรี' ผมก็มีนะครับ ซึ่งไม่นานมานี้ผมโปรเจคร่วมกับวงออเคสตร้า.. สิ่งที่ยอดเยี่ยมของมันคือ ผมมีนักดนตรี ร่วมอยู่ด้วยถึงสามสิบคนเลยทีเดียว ผมมีวงดนตรีสดขนาดใหญ่อยู่กับผม ทั้งดรัมและอื่นๆ

Debruit : นอกจากผมเล่นโซโลแล้ว ก็มี 'วงดนตรีสด' มาขอให้ผมร่วมแจมด้วย และวงก็พยายามที่จะใส่ไอเดียของการเล่นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สด เพิ่มเข้ามาครับ.. ย้อนกลับพูดในการเล่นระหว่าง ‘ดีเจ’ และไอเดียของการ ‘เล่นสด’ ผมคิดว่ามันควรจะแบ่งโซนให้ชัดเจนนะครับ ผมรักที่จะไปดู ดีเจเก่งๆเล่น และผมว่ามันมีกฎระเบียบในการเล่นที่ต่างกัน

สำหรับคนที่เข้าใจการเล่นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สด มันควรจะเป็นเรื่องของ การที่คุณกำลังนำเสนอบางสิ่งที่มาจากตัวคุณจริงๆ และคุณมีการปฏิสัมพันธ์กันกับส่ิงที่คุณทำในหลากหลายระดับ!! และมันควรจะเป็นผลงานของคุณด้วย เป็นเพลงของคุณเอง..คือผมเห็นหลายคนที่เล่นไลฟ์ โดยใช้เพลงของคนอื่น และผมคิดว่านั้นเป็นการทำให้คนดูสับสน นอกเสียจากว่าคุณจะทำเวอร์ชั่น Cover นะครับ.. เท่าที่ผมรู้มา คุณไม่สามารถสร้างปฎิสัมพันธ์กับคนดูได้ถ้าคุณนำเพลงของคนอื่นมาเล่น!!

กลับมาเข้าเรื่องวงดนตรี.. ผมว่ามันเป็นหนทางหนึ่ง ของการแสดงความเป็นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สด ในแบบที่ต่างออกไป การใช้ 'ซินธิไซเซอร์' และ 'คอนโทรลเลอร์ต่างๆ' บวก 'คอมพิวเตอร์บนเวที' แค่นี้มันก็ดูอิเล็กทรอนิกมากๆแล้วล่ะ!

Comfort Fit : ผมมีการปรับตัวเองให้เชื่อมต่อกับคนดูมากขึ้นเหมือนกันนะครับ..ที่ผมทำคือการหาอะไรมาเพิ่มใน 'ช่องว่าง' ของช่วงพักระหว่างเพลงให้มากขึ้น.. ผมเริ่มที่จะใช้เทคนิคแบบพิธีกร และเรียนรู้ว่า ถ้าคุณจัดแจงที่จะใส่อารมณ์ขันของคุณลงในโชว์ ส่ิงนี้จะดึงคนดูได้ดีมาก.. ความสนุกความตลกมันคือ กุญแจที่จะเปิด ‘ความรับรู้’ และ ‘การเปิดใจ’ ต่อสิ่งใหม่ๆของคนครับ.. ผมยอมรับเลยว่า ในช่วงแรกนั้นผมรูสึกแปลกๆกับการพูดตาม 'สคริป' ที่เตรียมไว้เหมือนกัน!! แต่พอผ่านไปสักปีสองปี ผมกลับมีความสุขกับมันมาก ถึงขนาดที่ว่าถ้าผมไม่ได้ทำมันผมจะไม่ทำโชว์เลยนะ!! มันกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับผมไปแล้ว.. การยิงมุขตลก การพูดเกี่ยวกับดนตรีที่ทำครับ

แม้นี่เป็นเพียงบางช่วงที่ตัดมาจากการ 'ดีเบต' ของนักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหก แต่ก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการพูดถึงปัญหา มุมมอง และภาพรวมของ 'การเล่นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สด' สำหรับทั่วโลก(และในประเทศไทยเอง)นะครับ!! ทั้งเรื่องของความเข้าใจ และการเปิดรับของคนดู หรือกระทั่งของคนในวงการดนตรีรุ่นก่อนๆเองก็ตามครับ

และสำหรับเพื่อนๆคนไหนที่สนใจอยาก เล่นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สดๆ ผ่านซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ ทางโรงเรียนอินเอียบีท มีคอร์ส Electronic Musician ไว้รองรับนะครับ หรือใครเป็นสายโชว์อยู่แล้ว แต่อยากลงลึงเรื่องโปรแกรม Ableton Live ให้มากขึ้นสำหรับการทำเพลงเองในสายโปรดิวเซอร์ เรามีคอร์สเรียนตั้งแต่ขั้นเบื้องต้นจนถึงขั้นสูงกับ Music Producer ลองเข้าไปดูกันได้ครับ

--- ข้อมูลจาก Factmag.com เรียบเรียงโดย Choco Beatt ---

Comentários


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page