top of page

ความจริง 7 ข้อ ที่ดีเจทุกคนต้องรู้เกี่ยวกับคุณภาพของเสียงในรูปแบบดิจิตอล (Digital Music Quality)

ในสมัยก่อน ก่อนที่ดนตรีดิจิตอลจะเข้ามามีบทบาทนั้น ศิลปินนักแต่งเพลง หรือโปรดิวเซอร์หลายๆท่านมักจะเน้นกันในเรื่องของคุณภาพเสียงที่ออกมา เสียงของเพลงต้นฉบับต้องมีคุณภาพสูง แต่มาในยุคดิจิตอลนี้ เราต้องยอมรับว่าคุณภาพเสียงนั้นถูกทำให้ลดลง เนื่องจากการแปลงต้นฉบับจากเสียงแท้ๆแบบอนาล๊อกไปเป็นเสียงสัญญาณดิจิตอล เราคิดเป็นกังวลและหาทางทำอะไรสักอย่างกับมันเพื่อให้ได้เสียงที่มีคุณภาพแต่จริงๆแล้วหลายคนมองว่ามันจำเป็นจริงหรือเปล่าที่ต้องกังวลกับเรื่องนี้ เสียงที่เราได้ยินในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงจาก MP3 ที่เราซื้อหรือดาว์นโหลดมาเพื่อฟัง หรือ เสียงที่ออกมาจาก SoundCloud หรือเสียงเพลงที่เราเรา ดีเจเตรียมเพื่อที่จะเล่นเพื่อให้ลูกค้าฟังนั้น มันเป็นเสียงที่บั่นทอนคุณภาพมาแล้วทั้งสิ้น แต่เราใช้กันจนชินไปแล้ว

วีดีโอนี้ทำให้คุณได้เข้าใจว่าคุณภาพเสียงในปัจุบันเป็นอย่างไร ทำไมนักแต่งเพลงหลายๆคนถึงเหนื่อยกับการบันทึกเสียงดีๆคุณภาพสูง แต่คนฟังเอามาฟังกันในรูปแบบ MP3 บน Youtube บ้าง หลายๆอย่างหายไป แต่ผู้ฟังไม่แคร์ครับเนื่องจาก ต้องการความสะดวกสบาย ฟังบนมือถือได้เลย ง่ายดี เร็วดีด้วย

ในฐานะของดีเจเราต้องทราบในเรื่องของคุณภาพเสียงดีกว่าคนทั่วๆไป เนื่องจากเราใกล้ชิดกับเสียงดนตรีมากกว่าผู้ฟังเพลงคนอื่นๆ แน่นอนครับ คุณภาพของเสียง MP3 แตกต่างจาก เสียงที่มาจาก CD โดยสิ้นเชิง แต่ถ้าจะแลกกับขนาดไฟล์ที่เล็กและสะดวกแล้วบางคนก็ยอมครับ ความจริง 7 ข้อต่อไปนี้ที่เกี่ยวกับคุณภาพเสียงในรูปแบบดิจิตอลที่เราต้องรู้ครับ

Retro DJ

1.รูปแบบไฟล์ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด

สิ่งที่โปรดิวเซอร์ทำในสตูดิโอสำหรับเพลงๆหนึ่งนั้น สำคัญกว่ารูปแบบของไฟล์เพลงที่ถูกแปลงมา โดยปกติการทำเพลงๆหนึ่ง จะมีการบีบอัดไฟล์มาในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ไม่เท่ากับการบีบอัดแบบ MP3 เราทดสอบง่ายๆด้วยการเพิ่มระดับเสียงในเพลงนั้นเราจะได้ยินเสียงเครื่องดนตรีที่ไม่ได้ยินในตอนแรก แต่เราต้องมีเครื่องเสียงที่ดีๆแบบ HIFI เอาไว้ขับออกมาด้วยนะครับถึงจะได้ยิน

Music Studio

2. การบีบอัดเพื่อลดขนาดไฟล์ลง 80% ไม่ได้หมายถึงคุณภาพเสียงจะลดลง 80 % ด้วย

เมื่อเราทำการบีบอัดไฟล์เสียง เราสามารถลดขนาดของไฟล์ลงได้แต่ไม่ได้ลดคุณภาพที่เราสามารถ สัมผัส ได้ยิน หรือรับรู้แม้แต่น้อยครับ เราเรียกการบีบอัดแบบนี้ว่า “Lossless” การบีบอีดอีกแบบหนึ่งคือลดขนาดไฟล์ให้มีขนาดเล็กลงมาก มากกว่าแบบ Lossless แบบนี้จะทำให้ไฟล์เสียงเปลี่ยนไปได้เลย เราเรียกการบีบอัดแบบนี้ว่า “Lossy” ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะนิยมกันครับ และมองว่าไฟล์นั้นไม่มีคุณภาพแต่จริงๆแล้วนั้น ไม่จริงครับ เนื่องจากหูของมนุษย์เรานั้น ไม่สามารถจะรับเสียง หรือได้ยินเสียงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในห้องอัดเสียง เราสามารถที่จะเอาเสียงที่ไม่จำเป็นโดยที่ไม่มีใครรู้ออกได้ครับและนั้นก็เป็น Lossy รูปแบบหนึ่ง

มาถึงจุดที่ว่า แล้วตกลงการบีบอัดแบบไหนที่จะเหมาะสมที่สุด เปรียบเทียบระหว่าง MP3 ขนาด 96Kbps และ 320 Kbps เราแทบจะไม่เห็นความแตกต่างกันเท่าไหร่ ต้องลองฟังดูครับ การลดขนาดไฟล์ลงถึง 80% บางครั้งเราได้ยินเหมือนเดิมครับ

rave-1204x646.jpg

3. คนฟังส่วนใหญ่ไม่ได้ฟังเพลงที่มีคุณภาพดีที่สุดเสมอ

คนส่วนใหญ่นั้นมองข้ามเรื่องคุณภาพของเสียงไปเนื่องจาก มีสิ่งอื่นที่น่าสนใจกว่าเสมอเวลาฟังเพลง บางคนเต้นปนดิ้นกระจายอยู่กลางร้านใน Pub ทนฟังกับเสียงที่ขับออกมาจากชุด PA ความสนุกอยู่ตรงความดังแต่ไม่เน้นคุณภาพว่าเสียงเครื่องไหนดนตรีไหนหายไปบ้าง บ่อยครั้งเราฟังเพลงจากวิทยุที่เปิดเพลงตอนรถติดหรือกำลังซิ่งแซงรถบางคันเราไม่ได้จะเอาคุณภาพทั้งหมด เคยมั้ยครับหลังจากที่เราเล่นดีเจจบจากเครื่องเสียงของร้านที่เก่าเก็บมาแรมปี แต่ก็มีคนมาบอกว่า “ขอบคุณสำหรับเพลงที่เราเปิดทำให้พวกเขาสนุกกันสุดเหวี่ยง”

ยินดีด้วยครับ คุณเป็น 1 ใน 99% ของคนปกติที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของดิจิตอลมิวสิค ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตเรา เราแถบจะไม่รู้เรื่องของคุณภาพที่ลดลงเลย แต่มีคนอีก 1% ที่ไม่สามารถรับเพลงที่ถูกบีบอัดเหล่านั้นได้เนื่องจากคุณภาพไม่ดี เราลองนึกกันดูครับว่าอยากอยู่กลุ่มไหน

Dj Playing House Music

4. เวลาที่เอาไปใช้ในการสร้างสิ่งที่เพอร์เฟค อาจจะเป็นตัวถ่วงความ ก้าวหน้าของคุณก็ได้

แน่นอนครับ เราอยากจะทำให้ทุกอย่างที่ออกมานั้นสมบูรณ์ที่สุด เราอยากจะให้ระบบ PA ถูกเซ็ทอัพให้ดีที่สุด ทิศทางของเสียงที่ออกมาถูกต้อง ทุกๆแทรคที่เราเล่นต้องเป็นเสียงแบบ Lossless ระดับมาสเตอร์ ทุกอย่างที่กล่าวมาจะทำให้เรากลายเป็น “เพอร์เฟคดีเจ“ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นครับ อะไรที่เรียกว่าสมบูรณ์นั้นไม่มีอยู่จริงครับ เนื่องจากอะไรที่ทำและสร้างมาจากมนุษย์อย่างเรา มันไม่สามารถที่จะทำให้เพอร์เฟคได้ รวมถึงคุณภาพของเสียงดนตรีนั้นด้วยครับ ที่เรากล่าวมาข้างต้น เราให้ความสำคัญกับทุกอย่างที่จะทำให้เราเป็นดีเจที่ดี บางครั้งเราเอาจะลดความสำคัญของบางเรื่องลงไปบ้าง เพื่อจะทำให้เราโฟกัสไปเรื่องที่น่าจะสำคัญกว่า นั้นคือความสนุกของผู้ฟังครับ ยกตัวอย่าง มีคนปล่อยไฟล์เพลงขนาด 128 Kbps (MP3) ซึ่งคุณรู้ว่าเป็นเพลงที่ยอดเยี่ยมที่คนฟังได้ฟังแล้ว ต้องมากล่าวชมคุณทีหลังแน่นอน แล้วคุณจะเปิดมันมั้ยครับ? หรือคุณยอมไม่เอามันมาใช้ รอจนกว่าคุณจะหาเสียงที่มีคุณภาพกว่านี้ก่อน แล้วจึงนำมาใช้

Dance Party

อย่าให้เรื่องของคุณภาพไฟล์กวนใจคุณมาก ต้องลองมองรอบๆดูความรู้สึกของผู้ฟังให้ออกว่าเขาต้องการเสพอะไรบรรยากาศหรือคุณภาพของเสียง ลองชั่งน้ำหนักดูครับ คุณเป็นศิลปินและนักแสดงที่ถ่ายทอดบทเพลงและทำให้ผู้ฟังมีความสุขครับ เปิดมันไปเลยครับให้คนกระโดดโลดเต้นกับเพลงนั้น แล้วหลังจากจบงานคุณค่อยไปหาเวอร์ชั่นเต็มเมื่อมันวางจำหน่ายแล้วค่อยกลับ มาใช้ใหม่ หรือ มาฟังใหม่ด้วยเครื่องเสียงดีๆ

Blue Headset

5. เพลงสมัยนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเล่นบนเครื่องเล่นใดเครื่องเล่นหนึ่ง

ความจริงที่เราต้องยอมรับ ในวงการเพลงสมัยนี้ หลังจากเพลงได้ถูกทำออกมาเสร็จ ขั้นตอนสุดท้าย โปรดิวเซอร์นั้น จำเป็นต้องหาอุปกรณ์ที่ผู้ฟังนิยมใช้ มาทำการซาวด์เช็คและทดลองกับอุปกรณ์เหล่านั้น เขาจะฟังแทรคจากหูฟังไอโฟนที่ผู้ฟังชอบใช้ Speaker ราคาเหมาะสมที่ขับเพลงที่ Steam ออกมาในระบบ MP3 เพื่อจะได้กำหนดคุณภาพของเสียงตามอุปกรณ์เหล่านั้น ที่ผู้ฟังใช้กันอยู่โดยทั่วไปครับ เพลงที่เล่นในคลับ เสียงเบสต้องหนักแต่ถ้าเอาเพลงเดียวกันมาเปิดบนวิทยุตามคลื่นต่างๆ เสียงอาจจะไม่ดีครับ จุดหมายปลายทางของเพลงเหล่านั้น ว่านำเอาไปใช้ที่ไหน เล่นบนเครื่องอะไร เป็นวิธีที่โปรดิวเซอร์ส่วนใหญ่นำมาใช้กัน ในการผลิตหลักๆของเพลงเหล่านั้นครับ

Record Heads B&W

6.ไม่มียุคทองของวงการนี้อยู่จริง

คนส่วนใหญ่คิดว่าในอดีตเสียงเพลงนั้นดีกว่าในปัจุบันเยอะ แต่ในความเป็นจริงในสมัยนั้นไม่มีลำโพงดีๆที่สามารถขับเสียงดีๆออกมาได้ จนถึงสมัยปลายยุค 60s หลังจากยุคทองของดนตรี Pop มาจนถึงช่วงยุค 70s ยุคเทปจึงเกิดขึ้น Amp และ Speaker ได้พัฒนาขึ้นกว่าแต่ก่อน แผ่นไวนิลทำให้คนเรารับฟังเสียงที่มีคุณภาพมากขึ้น เราได้เห็นว่าอัลบั้มของศิลปินต่างๆ ได้มีการใส่ภาพปกนอกปกใน กระดาษโน๊ตขอบคุณ หรือ รายละเอียดที่มาของเพลงต่างๆในอัลบั้มนั้น เราลองมาเปรียบเทียบกันว่า ในยุคดิจิตอลที่ทุกอย่างอยู่ในคอมพิวเตอร์ เวลาเราซื้อเพลงในอัลบั้มเหล่านั้น เราได้รับสิ่งที่นอกเหนือจากบทเพลงแถมมาด้วยเหมือนกันแต่เป็นแบบ Attach File รูป หรือ รายละเอียดต่างๆ เช่นเดิมเหมือนในอดีต แตกต่างคือเราสัมผัสมันไม่ได้ แต่ข้อดีที่แลกมาก็คือ เราสามารถสร้าง Music Discovery หรือ Music Collection ของเราได้สบายแถมยังค้นหาเพลงที่เราต้องการอย่างรวดเร็วอีกด้วย ส่วนในเรื่องของคุณภาพนั้น อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกมองข้ามไปในยุคนี้ ยิ่งสำหรับดีเจและโปรดิวเซอร์อย่างเราแล้ว การค้นหาเพลงที่รวดเร็วการใช้เพลงได้ง่ายขึ้น นั้นหมายถึงการเข้าถึงคนฟังและเอาอยู่กับทุกสถานการณ์ เราจำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีนี้ครับ

Social network concept

7. เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ดีที่เข้ามา

เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรา ทำให้เราได้ฟังเพลงได้มากขึ้นและง่ายขึ้น ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มันมีทางเลือกเสมอสำหรับดีเจอย่างเรา จะลองนั่งฟังเพลงในห้องเงียบๆ กับเครื่องเสียงตัวเฉียดล้าน โดยซึมซับเพลงผ่านรูหูของเรา หรือ มีความสุขกับการเล่นเซ็ทเพลงมันๆ ผ่านเครื่องเสียงห่วยๆในบาร์เล็กๆล้อมรอบไปด้วยผู้คนที่ เต้นและกรีดร้อง ปลดปล่อยอารมณ์ความสนุกสุดๆ ไปกับเพลงที่เรามอบให้พวกเขา มันมีทางเลือกเสมอและเราสามารถเลือกได้ทั้งสองครับ

Rock On

ข้อสรุป

ในทุกวันนี้เราไม่มีข้อสงสัยเลยว่า คุณภาพของเสียงนั้น Drop ลงไปเยอะมาก มีบางคนก็หาทางแก้ไขให้กับเรื่องนี้อยู่ แต่เมื่อเราซึมซับมันเข้าไปทุกวันทุกวัน ทำให้คนในปัจจุบันหรือในเจเนอเรชั่นนี้ส่วนใหญ่ ไม่สามารถบอกความแตกต่างของคุณภาพเสียงได้แล้ว แต่ในมุมมองของดีเจ ในยุคของ ดิจิตอลดีเจ ขอให้เรายิ้มและพร้อมรบในทุกสถานการณ์ ทำงานที่ได้รับมอบหมายมาให้จบ ทิ้งความรู้สึกดีๆให้คนฟัง หาเพลงที่มีคุณภาพเพียงพอกับสิ่งที่เราเล่นคุมมันให้อยู่ ส่งความรู้สึกไปให้ถึงผู้ฟังทำให้เขาขยับให้ได้ พวกเขาไม่แคร์กับฟอร์แม็ทหรือคุณภาพของเสียงเท่าไหร่ ส่วนใครที่คิดว่าคุณภาพของเสียงนั้นจำเป็น สามารถคอมเมนท์พูดคุยกันได้ที่ใต้บทความนี้ได้เลยครับ

Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page